เมนู

อรรถกถาสูตรที่ 7



ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 7 ดังต่อไปนี้
บทว่า มญฺชุสฺสรานํ แปลว่า มีเสียงหวาน. บทว่า ลกุณฺฎก-
ภทฺทิโย
ความว่า ท่านว่าโดยส่วนสูง เป็นคนเตี้ย โดยชื่อชื่อว่า
ภัททิยะ. ในปัญหากรรม แม้ของพระภัททิยะนั้น มีเรื่องที่จะกล่าว
ตามลำดับ ต่อไปนี้ :-
กล่าวโดยพิสดาร ท่านพระเถระแม้นี้ บังเกิดในตระกูลที่มี
โภคะมาก ในกรุงหงสวดี ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ
ไปพระวิหารฟังธรรมตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล สมัยนั้น ท่านเห็น
พระภิกษุผู้มีเสียงไพเราะรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ใน
ตำแหน่งเอตทัคคะ เกิดจิตคิดว่า อัศจรรย์หนอ ต่อไปในอนาคต
เราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระ-
พุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุนี้ จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทานแด่
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข 7 วัน แล้วหมอบลงแทบพระบาทของ
พระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่ง
ทานนี้ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์
พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้า
พระองค์หนึ่งเถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตก็ทรงเห็นความ
สำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า กรรมของท่านนี้จักสำเร็จในที่สุดแห่ง

แสนกัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมจักทรงอุบัติขึ้น
ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระองค์
ดังนี้แล้วเสด็จกลับพระวิหาร แม้ท่านได้พยากรณ์นั้นแล้ว กระทำ
กรรมดีงามอยู่ตลอดชีวิต ทำกาละในอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่าย
อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
ว่า วิปัสสี บังเกิดเป็นนกดุเหว่ามีขนปีกอันสวยงาม อยู่ในเขมมิค-
ทายวัน. วันหนึ่งไปยังหิมวันตประเทศ เอาปากคาบผลมะม่วงหวาน
มา เห็นพระศาสดามีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ถวายบังคมแล้วคิดว่า
ในวันอื่น ๆ เรามีตัวเปล่าพบพระตถาคต แต่วันนี้เรานำมะม่วง
สุกผลนี้มาเพื่อฝากบุตรของเรา แต่สำหรับบุตรนั้นเราไปเอาผล
อื่นมาให้ก็ได้ แต่ผลนี้เราควรถวายพระทศพลดังนี้ จึงคงบินอยู่
ในอากาศ. พระศาสดาทรงทราบใจของนกจึงแลดูพระอุปัฏฐาก
นามว่า อโสกเถระ พระเถระจึงนำบาตรถวายพระศาสดา นกดุเหว่า
จึงเอาผลมะม่วงสุกวางไว้ในบาตรของพระทศพล. พระศาสดา
ประทับนั่งเสวยในที่นั้นนั่นแหละ. นกดุเหว่ามีจิตเลื่อมใสนึกถึง
พระคุณของพระทศพลเนือง ๆ ถวายบังคมพระทศพลแล้วไปรัง
ของตน ยับยั้งอยู่ด้วยสุขปีติ 7 วัน. ในอัตภาพนั้น เธอทำกัลยาณ-
กรรมไว้มีประมาณเท่านี้ ด้วยกรรมนี้ เธอจึงมีเสียงไพเราะ.

แต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป เมื่อชน
ทั้งหลายปรารภเริ่มสร้างเจดีย์ ต่างพูดกันว่า เราจะสร้างขนาด
เท่าไร เราสร้างขนาด 7 โยชน์ก็จะใหญ่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็
สร้างขนาด 6 โยชน์ แม้ 6 โยชน์นี้ก็ใหญ่เกินไป เราจะสร้าง 5

โยชน์ เราจะสร้าง 4 โยชน์... 3 โยชน์... 2 โยชน์ ดังนี้. ท่าน
ภัททิยะนี้ ครั้งนั้น เป็นนายช่างใหญ่พูดว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
การสร้างก็ควรนึกถึงการบำรุงได้ง่ายในอนาคตกาลบ้าง แล้ว
กล่าวว่า มุขแต่ละมุขขนาดคาวุตหนึ่ง เจดีย์ส่วนกลมโยชน์หนึ่ง
ส่วนสูงโยชน์หนึ่ง ดังนี้ ชนเหล่านั้นก็เชื่อ ท่านได้กระทำแต่พอ
ประมาณแต่พระพุทธเจ้าผู้หาประมาณมิได้ ด้วยกรรมนั้นดังกล่าว
มานี้ จึงเป็นผู้มีขนาดต่ำกว่าชนเหล่าอื่นในที่ที่ตนเกิดแล้ว ด้วย
ประการยังนี้.

ครั้งพระศาสดาของเรา ท่านมาบังเกิดในตระกูลที่มีโภคะ
สมบัติมากในกรุงสาวัตถี พวกญาติขนานนามของท่านว่า ภัททิยะ
ท่านเจริญวัยแล้ว เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร
จึงไปพระวิหารฟังพระธรรมเทศนา ได้ศรัทธาแล้วรับกรรมฐาน
ในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว ต่อ
มาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ทรง
สถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งผู้ยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ.

จบ อรรถกถาสูตรที่ 7

อรรถกถาสูตรที่ 8



ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้.
บทว่า สีหนาทิกานํ ความว่า ผู้บันลือสีหนาท คือพระ-
บิณโฑลภารทวาชะเป็นยอด ได้ยินมาว่า ในวันบรรลุพระอรหัต
ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ
นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย
ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ ท่านยืนต่อพระพักตร
พระพุทธทั้งหลายบันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่
ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ชื่อว่าผู้ยอดของเหล่า
ภิกษุผู้บันลือสีหนาท ก็ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าว
ตามลำดับต่อไปนี้

ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระ-
ปิณโฑลภารทวาชะนี้ บังเกิดในกำเนิดสีหะ ณ เชิงบรรพต พระ-
ศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นเหตุสมบัติของท่าน (ความถึงพร้อม
แห่งเหตุ) จึงเสร็จทรงบาตรในกรุงสาวัตถี ภายหลังเสวยภัตตาหาร
แล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อสีหะออกไปหาเหยื่อ จึงทรงเข้าไปยังถ้ำ
ที่อยู่ของสีหะนั้น ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศเข้านิโรธสมาบัติ
พระยาสีหะได้เหยื่อแล้ว กลับมาหยุดอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระทศพล
ประทับนั่งภายในถ้ำ ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่นที่ชื่อว่าสามารถจะมา